วันจันทร์ที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ธนาคารแห่งประเทศไทย


 

 
 

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นธนาคารกลางของประเทศไทย จัดตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2485 เปิดดำเนินการครั้งแรกเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2485 มีหน้าที่หลักในการดูแลกำกับเรื่องการเงินของชาติ ทั้งออกกฎเกณฑ์และควบคุมสถาบันการเงิน นำออกหมุนเวียนซึ่งธนบัตรไทยรวมถึงการควบคุมการถ่ายโอนเงินตราระหว่างประเทศ และเฝ้าระวังอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบกับสกุลเงินตราอื่น ธนาคารแห่งประเทศไทยจัดตั้งขึ้นหลังจากประเทศไทยได้มีธนาคารพาณิชย์ทั้งของรัฐและเอกชนเริ่มดำเนินการไปก่อนหน้านั้นแล้ว ภารกิจและหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทยเดิมซ้อนเหลื่อมอยู่กับกระทรวงการคลังและได้มีการเปลี่ยนแปลงมาเป็นลำดับหลังจากที่ระบบการเงินของโลกพัฒนาไปและมีวิกฤตเศรษฐกิจครั้งสำคัญต่างๆ
 

ประวัติ


ในปี พ.ศ. 2482 เกิดสงครามโลกครั้งที่สอง สงครามและเหตุการณ์ที่เกิดจากสงครามได้เร่งรัดความจำเป็นต้องจัดตั้งธนาคารกลางขึ้นในประเทศไทย ปรีดี พนมยงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ร่วมมือกับพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิวัฒนไชย เริ่มจัดตั้งสำนักงานธนาคารชาติขึ้นในปี พ.ศ. 2482 อันเป็นแนวทางไปสู่การตราพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทยในปี พ.ศ. 2485 ในสมัยที่ พลเอกเภา เพียรเลิศ บริภัณฑ์ยุทธกิจ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (2484 - 2487) ได้มีการตราพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช 2485 จัดตั้งธนาคารแห่งประเทศไทย ขึ้นเป็นองค์กรอิสระ และ จากพระราชกฤษฎีกากำหนดกิจการธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช 2485 ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเริ่มประกอบธุรกิจได้ตั้งแต่วันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2485 เป็นต้นไป พร้อมกันนี้ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าวิวัฒนไชย เป็นผู้ว่าการธนาคารพระองค์แรก (พ.ศ. 2485 - 2489) พระองค์ได้ทรงวางระเบียบแบบแผนและดำเนินการจนธนาคารแห่งประเทศไทยได้ดำรงอยู่เป็นปึกแผ่นมั่นคงตลอดมาจนปัจจุบัน

 

บทบาทของธนาคารแห่งประเทศไทย


1. ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นองค์การของรัฐ สังกัดกระทรวงการคลัง ได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2485
2.
ธนาคารแห่งประเทศไทย มีอำนาจในการดำเนินการตามพระราชกฤษฎีกา กำหนดกิจการธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งออกภายใต้พระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2485 และมีหน้าที่ในการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ สนับสนุนให้เศรษฐกิจของประเทศขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ดูแลให้กลไกของตลาดเงินภายในประเทศดำเนินการอย่างราบรื่น และให้คำปรึกษาแก่รัฐบาลในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่สำคัญ
3.
ธนาคารแห่งประเทศไทยแบ่งส่วนราชการออกเป็น ส่วนงานที่ทำหน้าที่อันเป็นงานหลักของธนาคารแห่งประเทศไทยโดยตรง ส่วนงานที่ทำหน้าที่สนับสนุนการปฏิบัติงานหลักของธนาคารแห่งประเทศไทย และสาขาธนาคาร
4.
ธนาคารแห่งประเทศไทยมีบทบาทหลายประการได้แก่ การออกและพิมพ์ธนบัตร การเป็นนายธนาคารของธนาคารพาณิชย์ การควบคุมธนาคารพาณิชย์ การเป็นนายธนาคารของรัฐบาล การเสริมสร้างความมั่นคงของสถาบันการเงิน การพัฒนาตลาดเงินและตลาดเงินตราต่างประเทศ และการเป็นที่ปรึกษาทางการเงินของรัฐบาล

 

 อำนาจและหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทย

อำนาจของธนาคารแห่งประเทศไทยที่สำคัญ ได้แก่
1.
การออกและจัดการรวมตลอดถึงพิมพ์ธนบัตรและบัตรธนาคาร และการจัดการทุนสำรอง
2.
การซื้อขายและรับช่วงซื้อลดตั๋วแลกเงินและตั๋วสัญญาใช้เงินที่เกิดจากการค้าหรือพาณิชย์อันสุจริต และจากการอุตสาหกรรมบางประเทศ
3.
การดำเนินกิจการ การเงินระหว่างประเทศ
4.
การดำเนินกิจการแห่งระบบหักบัญชีระหว่างธนาคาร
5.
การเป็นนายธนาคารและเป็นตัวแทนทางการเงินของรัฐบาล

หน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทย ได้แก่
1.
หน้าที่ในการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ
2.
หน้าที่ในการสนับสนุนให้เศรษฐกิจของประเทศไทยขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
3.
หน้าที่ในการดูแลให้กลไกของตลาดการเงินภายในประเทศดำเนินไปอย่างราบรื่น
4.
หน้าที่ในการให้คำปรึกษาแก่รัฐบาลในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่สำคัญ ๆ
จากอำนาจหน้าที่ดังกล่าว มีส่วนช่วยให้ประเทศมีทุนและเงินออมเพียงพอที่จะใช้จ่าย ช่วยให้เกิดเสถียรภาพทางการเงิน ไม่ทำให้ราคาสินค้าเปลี่ยนแปลงไปมาก อันจะเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา



การจัดแบ่งส่วนงานของธนาคารแห่งประเทศไทย
การแบ่งส่วนงานของธนาคารแห่งประเทศไทยออกเป็นประเภทของหน้าที่ อาจแบ่งออกเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ ได้ 3 กลุ่ม ใหญ่ ๆ ได้แก่
1.
ส่วนงานที่ทำหน้าที่อันเป็นงานหลักของธนาคารแห่งประเทศไทยโดยตรง
2.
ส่วนงานที่ทำหน้าที่สนับสนุนการปฏิบัติงานหลักของธนาคารแห่งประเทศไทย
3.
สาขาธนาคาร

 

บทบาทของธนาคารแห่งประเทศไทย ได้แก่
1.
บทบาทในการออกและพิมพ์ธนบัตร
2.
บทบาทในการเป็นนายธนาคารพาณิชย์
3.
บทบาทในการควบคุมธนาคารพาณิชย์
4.
บทบาทในการเป็นนายธนาคารของรัฐบาล
5.
บทบาทในการเสริมสร้างความมั่นคงของสถาบันการเงิน
6.
บทบาทในการพัฒนาตลาดเงินและตลาดเงินตราต่างประเทศ
7.
บทบาทในการเป็นที่ปรึกษาทางการเงินของรัฐบาล